TALK FROM HOME 2 - พฤหัสบดีที่ 4 มิ.ย. 19.00 น.

บทบาทที่เปลี่ยนไปของอดีตนางสาวไทย
เมื่อโควิดได้นำพาความเปลี่ยนแปลงไปสู่ผู้คนในหลายรูปแบบด้วยกัน รวมถึงอดีตนางสาวไทยปี 2555 อย่างคุณปริศนา กัมพูสิริ ที่เปลี่ยนบทบาทตั้งแต่นางสาวไทย นักแสดง พิธีกร จนถึงอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย ในแต่ละบทบาทส่งผลต่อการทำงานอย่างไรบ้าง
รับมือกับทุกโอกาสที่เข้ามา
เดิมทีคุณปริศนานั้นชอบเรียนการละครเพราะทำให้เข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่ไม่ได้มองว่าทุกคนที่เรียนด้านนี้จะมีโอกาสเป็นนักแสดงได้ทั้งหมด จึงมีความคิดที่จะผันตัวเป็นพิธีกร การได้เป็นนางสาวไทยถือเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ทำสิ่งต่างๆ อีกมาก แสดงให้เห็นว่าโอกาสนั้นมีอยู่ทุกเมื่อ ถ้ามีความฝันก็อย่าทิ้งความฝันไป การได้เป็นนางสาวไทยนั้นต้องรับมือกับคนหลายระดับ เพราะต้องเจอคนมากมายจากหลากหลายงาน หลายครั้งต้องเจอพลังงานลบจากหลายทาง จึงต้องรับมือ และปรับทัศนคติของตนเองให้ดี
จุดเปลี่ยนจากนักแสดงสู่อาจารย์
จุดเปลี่ยนของอาชีพนักแสดงคือความคิดที่ว่าจะเป็นนักแสดงตลอดไปไม่ได้ มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเป็นนักแสดงตลอดเวลา อีกทั้งการเป็นนักแสดงมักจะอยู่ใน Commercial Art ไม่ใช่ Pure Art อย่างที่อยากทำแต่แรก ด้วยเหตุผลนี้จึงผันตัวมาเป็นอาจารย์ซึ่งเป็นการเติมเต็มคุณค่า และแรงบันดาลใจในการแสดง อีกทั้งยังมีโอกาสได้เห็นเด็กเติบโต นับเป็นความโชคดีที่กล้าเปลี่ยนมาทำอาชีพนี้ในจังหวะก่อนที่โควิดจะมาพอดี ถือเป็นความโชคดีที่เปลี่ยนก่อนที่โควิดจะบังคับให้เปลี่ยน
ปลูกฝังความคิดที่ดีแต่เด็ก
ถ้ามีเป้าหมายแล้วจะมีพลังในการทำสิ่งต่างๆ แล้วจัดลำดับให้ดีระหว่างสิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ควรทำ และสิ่งที่อยากทำ ความสำเร็จเป็นเพียงจุดนึงที่จะผ่านไป ไม่ยั่งยืนตลอดไป เป้าหมายส่วนตัวคืออยากเป็นคนที่มีความสุขในชีวิต และได้ทำสิ่งที่อยากทำ ตอนนี้มีความสุขทั้งการให้และการรับในเวลาเดียวกันด้วยการสอน
การปลูกฝังจากพ่อผู้เป็นพิพากษาในเรื่องของเหตุและผลมาตั้งแต่เด็ก สอนโดยการตั้งคำถามให้คิดแต่เด็ก มีส่วนบ่มเพาะให้เป็นคนมีเหตุผลมาจนถึงตอนโต รวมถึงยอมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้ายอมรับการเปลี่ยนแปลงได้นั้นจะก้าวต่อไปได้
ความคิดของเด็กยุคใหม่
จากการได้เป็นอาจารย์สอนเด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัยนั้น สังเกตได้ว่าเด็กยุคใหม่มักตั้งคำถามกับระบบ ไม่ศรัทธาในสิ่งที่โดนบังคับให้ศรัทธา เลือกเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ รักอิสระ มีตัวตน และเอกลักษณ์ชัดเจน จะต้องปรับตัวเข้าหากัน ถ้าผู้ใหญ่อยากเข้าใจเด็กรุ่นนี้ ยิ่งเป็นอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น การสอนด้วยวิธีการให้เด็กรู้จักคิด ถามเพื่อให้เด็กได้ถ่ายทอดความคิดเห็น และตกผลึกเองเป็นสิ่งที่ดีกว่าบอกให้ฟังตรงๆ เช่น วิเคราะห์ข่าวว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง ส่วนใดเป็นความคิดเห็น ข่าวนี้ต้องการสื่อถึงสิ่งใด เป็นต้น
สิ่งที่น่าห่วงสำหรับเด็กรุ่นนี้คือมีสมาธิค่อนข้างสั้น การรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการตัดสินคนอื่นซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ มาเปลี่ยนให้สังคมใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ ทำให้คนอยู่เหนือเทคโนโลยี และมีภูมิคุ้มกันให้เข้าใจสื่อ
ถือได้ว่าการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวันเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทในแต่ละครั้งแสดงถึงการเติบโต การเข้าใจคนรอบตัวเป็นสิ่งที่ควรมีในสังคมปัจจุบัน