คุยกันประสานมิตร - พฤหัสบดีที่ 28 พ.ค. 19.00

คุยกันประสานมิตร - พฤหัสบดีที่ 28 พ.ค. 19.00

ความท้าทายของการเรียนการสอน ในภาวะที่มีโรคระบาด

ตลอดระยะเวลา2 เดือน ที่ผ่านมาที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนได้ตามปกติอันเนื่อง มาจากสถานการณ์โควิดระบาด จึงเกิดความท้าทายในการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ จะมีเรื่องใดที่ต้องปรับตัวบ้าง แล้วเราควรมีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับนักเรียนในสถานการณ์เช่นนี้ มาฟังจากคณาจารย์ของคณะสังคมศาสตร์ถึงอนาคตการเรียนการสอนในภาวะโรคระบาด

ความท้าทายของผู้เรียนและผู้สอน

ช่วงแรกต้องศึกษาหาแอปพลิเคชั่นการประชุมเพื่อหาแอปที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนที่สุด ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ของทั้งอาจารย์และนิสิต เนื่องจากมีการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉินล่วงหน้าไม่นาน จึงต้องรีบปรับตัวกันอย่างเร่งด่วน ทำให้อาจารย์ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของนิสิตในเรื่องอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต บางคนไม่เปิดกล้องเพราะอินเทอร์เน็ตไม่แรงพอ

ในฝั่งของอาจารย์ก็มีปัญหาในการสอนออนไลน์เหมือนกัน คือการสื่อสารทางเดียวจากอาจารย์เท่านั้น นิสิตไม่ค่อยตอบคำถาม จึงเป็นเหมือนการพูดคนเดียว อีกทั้งยังไม่ได้สบตาและดูปฏิกิริยาของนิสิต จึงทำให้เห็นว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนิสิตในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นยังจำเป็นอยู่

อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนไม่ว่าอยู่ในสภาวะใดก็ไม่มีรูปแบบตายตัว ผู้สอนควรวิเคราะห์ผู้เรียนทั้งความพร้อมทางการเรียน เทคโนโลยีที่ใช้ และความสามารถในการเรียน จากนั้นดูวัตถุประสงค์การเรียนรู้ แล้วนำมาปรับใช้กับการสอนเพื่อใช้รูปแบบที่เหมาะสม

การปรับตัวในหลายรูปแบบ

การสอบควรคำนึงถึงอินเทอร์เน็ตที่นิสิตมีความเร็วไม่เหมือนกันก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคของการสอบได้ จึงปรับมาใช้วิธีให้แบบฝึกหัดแทน โดยแต่ละคนจะได้แบบฝึกหัดไม่เหมือนกัน หรือสัมภาษณ์ปากเปล่าเป็นรายบุคคลแทน ถ้ายังจำเป็นต้องออกข้อสอบจะออกแนววิเคราะห์กรณีศึกษาที่ไม่ใช่แค่เปิดหนังสือก็รู้คำตอบ

คำแนะนำสำหรับการสอนเด็กเล็กนั้นควรมีความร่วมมือระหว่างที่บ้านและโรงเรียน เน้นภาคปฏิบัติและบทเรียนที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง เช่น ปั้นดินน้ำมัน วาดรูป พับกระดาษ เป็นต้น เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กและใหญ่ ถ้าเป็นไปได้คุณครูอาจต้องวางแผนไปเยี่ยมบ้าน เด็กจะได้ดีใจและรู้สึกอบอุ่น

จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมของนิสิตมีผลกับการเรียนมาก การเรียนการสอนทางออนไลน์เป็นเพียงช่องทางเสริมเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นช่องทางหลักได้ ควรนำมาผสมผสานและปรับใช้ตามความเหมาะสม เช่น หากอยากให้นิสิตพูดคุยทางออนไลน์มากขึ้นอาจให้ใบงานที่ต้องนำเสนอ