TALK FROM HOME 2 - ศุกร์ที่ 22 พ.ค. 19.00 น.

เคล็ดลับการยืนระยะของนันยาง
ในสถานการณ์ที่เฝ้าระวังโควิดนี้ มีหลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และดำเนินต่อไปได้ สำหรับธุรกิจที่ส่งต่อกันมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 อย่างบริษัท นันยาง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด จะมีวิธีรับมือกับวิกฤตนี้แล้วผ่านไปได้อย่างไรบ้าง จะสืบต่อกิจการของครอบครัวอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ มาฟังจากคุณจักรพล จันทวิมล ถึงแนวคิดในการทำธุรกิจนี้จากใจคนสืบทอดกิจการครอบครัว
เตรียมรับมือล่วงหน้าก่อนเกิดปัญหา
เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จึงคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจดำเนินต่อไปในภายใต้พนักงานโรงงานนับพันคน สิ่งแรกที่ต้องทำคือมีสติและประเมินว่าสถานการณ์จะจบที่ใด เป็นสิ่งที่ต้องทำเหมือนที่เคยรับมือตอนภาวะน้ำท่วม และสถานการณ์ไม่สงบทางการเมือง ทุกอย่างถูกประเมินในสถานการณ์แย่ที่สุดไว้แล้ว จึงไม่ตื่นตระหนกมากนักเมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึง มีการแบ่งพนักงานออกเป็น 2 ทีมผลัดกันทำงานเผื่อทีมใดติดโควิดจะได้สลับอีกทีมมาทำได้ทันที
การบริหารของบริษัท นันยาง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) เน้นความเสี่ยงน้อยที่สุด มีการประเมินความเสี่ยงไว้ก่อนเสมอ คำนึงถึงความมั่นคงเป็นหลัก ไม่เน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้เวลาเจอวิกฤตในแต่ละรอบจะไม่เจ็บหนักมากนัก เป็นการบริหารที่เน้นความรอบคอบในการตัดสินใจแต่ละครั้ง
เคล็ดลับการบริหารธุรกิจครอบครัว
เคล็ดลับของทายาทรุ่นที่ 3 เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในธุรกิจ คือการบริหารธุรกิจครอบครัวโดยไม่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เพราะในการตัดสินใจในแต่ละครั้งยังต้องรับฟังพ่อแม่และญาติ เมื่อเข้ามาทำงานบริษัทครอบครัวแล้วจะต้องรู้ว่าตำแหน่งที่เข้าไปทำในบริษัทคืออะไร มีหน้าที่อะไรบ้าง อย่าก้าวก่ายตำแหน่งและหน้าที่ของคนอื่น โดยก่อนเข้ามาทำธุรกิจครอบครัว ถ้ามีโอกาสได้ทำงานที่บริษัทข้างนอกให้มีประสบการณ์ก่อนจะทำให้กลับมาสานต่อกิจการที่บ้านได้ดีขึ้น
ถ้าเกิดเรามีความคิดใหม่ๆ มานำเสนอพ่อแม่หรือญาติแต่ท่านกลับไม่สนใจ อาจต้องลองดูก่อนว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ ลองเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้เป็นกิจจะลักษณะ มีการให้ข้อมูล วิธีวัดผล และงบประมาณ ทำการบ้านมาให้พร้อมเพื่อให้ผู้ใหญ่เห็นภาพและคล้อยตามได้ง่ายขึ้น อย่ามัวแต่พูดโดยไม่ได้ทำอะไรให้เห็นจะไปต่อได้ยาก
สิ่งที่คุณจักรพล จันทวิมล ทิ้งท้ายไว้สำหรับธุรกิจที่สามารถไปต่อได้ในระยะยาวคือรู้จักสิ่งที่ทำอยู่ว่ากำลังทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร เก่งเรื่องใดเป็นพิเศษ มีจุดเด่นเหนือตลาดอย่างไร จุดขายคืออะไร ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหรือไม่ การมาของวิกฤตโควิดในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพิจารณาขนาดของธุรกิจที่ทำอยู่ ถ้ามีขนาดใหญ่เกินไปสามารถลดให้เล็กพอที่จะประคองไปได้