TALK FROM HOME 2 - จันทร์ที่ 18 พ.ค. 19.00 น.

TALK FROM HOME 2 - จันทร์ที่ 18 พ.ค. 19.00 น.

การปรับตัวในช่วงโควิดเพื่อช่วยเหลือชุมชน

ในช่วงที่ยังเฝ้าระวังการระบาดของโควิดนี้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคงหนีไม่พ้นการท่องเที่ยวและโรงแรม เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปอีกทั้งยังมีมาตรการปิดโรงแรม หลายธุรกิจจึงมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในช่วงที่โควิดยังระบาดอยู่ คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ริเริ่มแนวคิดธุรกิจแบบเกื้อกูล(Inclusive Business) ผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel และ Luk Hostel จะมีแนวคิดและวิธีรับมือกับสถานการณ์โควิดเพื่อให้ธุรกิจยังอยู่ได้อย่างไรบ้าง

แนวคิดโฮสเทลแบบเกื้อกูลชุมชน

แนวคิดของการทำ Once Again Hostel เกิดจากการที่อยากให้พื้นที่แถววัดสระเกศมีชีวิตชีวา และทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นอีกครั้ง เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างธุรกิจและชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืนและมีรายได้อย่างต่อเนื่องในแบบของ Inclusive Business ก่อนที่จะออกมากทำธุรกิจเต็มตัวนั้น คุณศานนท์ได้ทำงานประจำมาก่อนหลายปีทำให้ได้เรียนรู้ในการบริหารคนจากหัวหน้า และเรียนรู้ระบบองค์กรซึ่งสามารถนำประสบการณ์เหล่านี้มาปรับใช้ได้กับการบริหารโฮสเทล

เมื่อเจอโควิด ต้องรีบปรับแผนธุรกิจ

การมาของโควิดในครั้งนี้ทำให้ต้องเรียกทีมงานมาประชุมอย่างเร่งด่วนและปรับแผนในระยะยาว เนื่องจากแนวคิดของโฮสเทลที่เน้นให้คนมาใกล้ชิดกัน มีการปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งขัดกับการมี Social Distance ที่กำลังรณรงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของโควิดเป็นอย่างมาก หลังจากประชุมกันแล้วได้แบ่งการแก้ปัญหาออกเป็น 3 แนวทางด้วยกัน คือ

  1. ถ้าทีมงานคนใดสามารถ Work From Home ได้จะให้ทำ แต่ถ้าใครไม่สะดวกทำงานที่บ้านสามารถมาพักที่ Luk Hostel ได้ ซึ่งได้ปรับให้โฮสเทลนี้กลายเป็นที่พักในระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติและคนที่ทำงานอยู่บ้านไม่ได้
  2. รวบรวมพนักงานจากทุกแผนกมาทำอาหาร และส่งอาหารโดยให้ลูกค้าผูกปิ่นโต 7 วัน ซึ่งใช้วัสดุจากธรรมชาติ และไม่ใช้พลาสติกเลยโดยใช้ชื่อ Rise
  3. Delivery Online อาหารอร่อยในย่าน ใช้วิธีรวบรวมรายการที่สั่งแล้วให้วินมอเตอร์ไซค์แถวนั้นส่งโดยใช้ชื่อ Locall

ในการแก้ปัญหาแต่ละครั้งยังคงเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ถือเป็นคุณค่าสำคัญในการทำธุรกิจที่ขาดไม่ได้ อีกทั้งการรักษาพนักงานให้ยังอยู่ในธุรกิจถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญเพราะแรงกายแรงใจและความคิดเห็นของทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจ ดำเนินต่อไปได้

สร้างความรู้สึกเป็นส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่ง

การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจสามารถเริ่มได้จากการให้พนักงานทุกคนรับรู้ถึงสถานการณ์และ ตัวเลขในธุรกิจ พร้อมทั้งเห็นปลายทางของธุรกิจร่วมกัน พนักงานทุกคนรู้สึกตรงกันว่าได้ทำงานที่มีคุณค่า และทำให้หลายร้านอาหารไม่ต้องปิดตัวลง เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แรงบันดาลใจมาจากการเห็นปัญหาในเมืองทุกวัน ปัญหาในชุมชนจะช่วยขัดเกลาการทำงานและเห็นเป้าหมายชัดเจนขึ้น ทำให้เจอความหมายของการมีชีวิตอยู่

เด็กยุคใหม่ตระหนักถึงปัญหาของสังคมสูง สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวไปพร้อมกับการทำกิจการเพื่อสังคมได้ ขอให้หาจุดสมดุลในการทำเพื่อตัวเองและผู้อื่น อาจพูดคุยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับชุมชนจะทำให้หาจุดสมดุลนั้นได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเล็งเห็นในศักยภาพของคนในชุมชน รวมไปถึงศักยภาพของคนในทีมงานที่ร่วมกันทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมด้วย การรับฟังคนอื่นถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจ